ประวัติการเล่นว่าวในประเทศไทย

             การเล่นว่าวในประเทศไทยนั้นได้มีมานาน ตั้งแต่สมัยโบราณโดยในแต่ละสมัยก็ได้มีการกล่าวถึงการเล่นว่าวที่แตกต่างกันไป แต่หากจะพูดถึงการเล่นว่าวมีมาแต่ครั้งสมัยใดนั้นคงจะเป็นการยากที่จะกล่าวให้ชัดเจนเพราะจากตำนานหลักฐานที่กล่าวถึงการเล่นว่าวของไทยนั้นได้ปรากฏมาตั้งแต่อดีตกาลแล้ว

สมัยสุโขทัย(พ. ศ.1781-1981)

             ในสมัยนี้ได้กล่าวถึง เรื่องราวของพ่อขุนศรีอินทรทิตย์ซึ่งทรงโปรดการเล่นว่าวจนเกิดเหตุการณ์ให้พระองค์ทรงเกิดความรักกับบุตรสาวพระยาเอื้อ ทั้งนี้ยังมีการกล่าวไว้ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นพระสนมเอกของพระร่วงซึ่งกล่าวถึงเดือนยี่ในการพระราชพิธีบุษบาภิเษกว่าเป็นงานนักขัตฤกษ์ที่หมู่นางสนมกำนัลดูการชักว่าวหง่าว (ว่าวดุ๊กดุ่ย)

สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.1893-2310)

           ซึ่งเป็นสมัยที่สมเด็จพระรามาธิบดีเป็นปฐมกษัตริย์การสร้างกรุง เมื่อ พ.ศ.1901 ทรงตั้งกฎมณเฑียรบาลว่าห้ามมิให้ผู้ใดเล่นว่าวข้ามพระราชวังอันเนื่องมาจากทรงเกรงว่า ว่าวที่ใช้เล่นกันจะไปเกี่ยวหรือทำความเสียหายให้แก่สิ่งก่อสร้างในพระราชวัง และเมื่อครั้งสมัยพระเพทราชาก็ได้ทรงใช้ว่าวในการทำสงครามโดยใช้ ลูกระเบิดติดกับว่าวจุฬาแล้วชักว่าวลอยข้ามกำแพงเพื่อเข้าโจมดีฝ่ายข้าศึกโดยในสมัยนี้ได้ปรากฏชื่อว่าวปักเป้าขึ้นมาด้วย ทั้งนี้ยังทรงให้มีการแข่งขันการเล่นว่าวโดยเล่นเพื่อเอาแพ้ชนะกัน
           ในจดหมายเหตุของ มองซิเออร์ ลาลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยที่ 14 กรุงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวถึงการเล่นว่าวของไทยว่า เป็นการเล่นที่สนุกสนาน เป็นที่นิยมในหมู่เจ้านายและขุนนาง

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

           ในสมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2394-2111) พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเล่นว่าวได้ที่ท้องสนามหลวง ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2449 ได้มีการจัดการแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้าชิงถ้วยทองคำพระราชทานที่พระราชวังสวนดุสิตการแข่งขันนี้มีเป็นประจำทุกปี จนสิ้นรัชสมัยของพระองค์และในสมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2453-2468) พระองค์ ได้ทรงให้มี การจัดกีฬาว่าวขึ้นมาอีก ครั้งหนึ่ง
ความหมาย
           ว่าวเป็นการละเล่นของไทยที่มีมาช้านาน โดยการเล่นต้องหาโอกาสที่เหมาะสม ในการเล่นซึ่งโอกาสที่เหมาะสมในที่นี้ก็ คือ การหาช่วงเวลาที่มีอากาศดีลมพัดอย่างสม่ำเสมอไม่แรงจนเกินไป เพราะอาจทำให้ว่าวเสียการทรงตัวและขาดได้พร้อมทั้งสถานที่ในการเล่นว่าวควรจะเป็นสถานที่กว้างพอที่จะทำให้ว่าวลอยได้อย่างอิสระสวยงาม การเล่นว่าวใช้อุปกรณ์ในการเล่นที่ไม่ยุ่งยากเพราะส่วนประกอบของว่าว โดยหลักแล้วจะมีเพียงไม้ไผ่ที่นิยมใช้ทำโครงว่าว และกระดาษที่ ใช้ติด กับโครงว่าวที่เราสร้างไว้ กระดาษกับเชือกที่ใช้ผูกกับไม้ความแข็งแรงนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ในการแข่งขันหรือเล่นเพื่อความสนุกสนาน หากใช้ในการแข่งขันเชือกกับกระดาษที่ใช้ควรจะเหนียวพอที่จะโต้ลมได้จนจบการแข่งขันโดยไม่มีการชำรุดไปเสียก่อน

 

      

ว่าวที่นิยมเล่นในเทศกาลการจัดการแข่งขันการเล่นว่าว
ภาพจาก
http://www.thailand-huahin.com/t-pictures-huahin-kite-festival.htm

 

ประเภทและชนิดของว่าว
           ในปัจจุบันการเล่นว่าวได้พัฒนาขึ้นรูปแบบของว่าวก็ได้ถูกพัฒนา ให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น รวมทั้งมีการประดิษฐ์ให้มีความทันสมัย สีสัน รูปแบบสวยงามเป็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน โดยว่าวที่เล่นกันในประเทศไทยได้แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
           1.ว่าวแผง เป็นว่าวที่ไม่มีความหนา มีแต่ส่วนกว้าง และส่วนยาว เช่นว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวอีลุ้ม ว่าวรูปสัตว์ ต่างๆ
           2.ว่าวภาพ ชื่อของว่าวก็เป็นสิ่งที่บอกได้ว่าว่าวประเภทนี้ต้องเกี่ยวข้องกับ ความคิดสร้างสรรค์ ฝีมือที่ใช้ในการประดิษฐ์ว่าวเพื่อให้เกิดลักษณะที่พิเศษ เป็นที่น่าสนใจแก่ผู้คน ซึ่งว่าวภาพก็แบ่งย่อยเป็น 3 ประเภทอีก คือ
           • ว่าวประเภทสวยงาม
           • ว่าวประเภทความคิด
           • ว่าวประเภทขบขัน

 

ว่าวที่นิยมเล่นกันในภาคต่างๆ
ว่าวภาคเหนือ
ภาพจาก http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK13/pictures/l13-189c.jpg
ภาคเหนือ  ลักษณะของว่าวไทยภาคเหนือ แต่เดิมจะมีรูปแบบง่ายๆโดยโครงสร้างก็ประกอบด้วยไม้ไผ่ที่มาทำเป็นโครงมีไม้ที่ทำเป็นแกนกลางและทำเป็นปีกว่าวทีกระดาษที่ไว้ปิดโครงไม้รูปร่างว่าวคล้ายว่าวปักเป้าของภาคกลาง แต่ไม่มีหาง ว่าวรูปแบบอื่นๆคงได้รับแบบอย่างมาจากการทำว่าวของภาคกลางว่าวที่นิยมมากที่สุด คือ ว่าวสองห้อง ภาคกลางเรียกว่า ว่าวดุ๊ยดุ่ย รองลงไป ได้แก่ ว่าวอีลุ้ม

 

 

 

ว่าวจุฬา ภาพจาก
http://www.thailandpost.com/images/stamp_unseen/Week2004_01.jpg

ภาคกลาง
           ภาคกลางเป็นภาคที่นิยมการเล่นว่าวซึ่ง ว่าวที่เป็นที่นิยมเล่นกันจะมีด้วยกันหลายรูปแบบแต่ที่เป็นแบบดั้งเดิมคือว่าวปักเป้า ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวอีเพรด ว่าวอีลุ้ม ส่วนว่าวที่เป็นรูปแบบใหม่ก็เช่นว่าวงู ว่าวนกยูง ว่าวคน ว่าวผีเสื้อ

ภาคตะวันออก
           ว่าวที่ภาคตะวันออกเล่นกันเช่นว่าวอีลุ้ม ว่าวหาง ว่าวหัวแตก ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวกระดาษ ว่าวในมะกอก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
           ประชาชนส่วนมากนิยมเล่นว่าวพื้นเมือง และว่าวที่นิยมมากที่สุด คือ ว่าวสองห้อง ภาคกลางเรียกว่า ว่าวดุ๊ยดุ่ย รองลงไป ได้แก่ ว่าวอีลุ้มส่วนว่าวที่มีการเล่นว่าวหาง (ว่าวดุ๊ยดุ่ย), ว่าวอีลุ้ม (ว่าวอีลุ่ม) ว่าวปลาโทดโทง ว่าวประทุน

ว่าวงู
ภาพจาก http://www.freewebs.com/bin10229/index.html
ภาคใต้
การเล่นว่าวในภาคใต้นิยมเล่นเพื่อความสนุกสนานเป็นส่วนใหญ่ ว่าวที่เล่นกันมากในภาคใต้มีหลายชนิด เช่น ว่าววงเดือน ว่าวปักเป้า ว่าวนก ว่าวหลา (ว่าวจุฬา) ว่าวอีลุ้ม ว่าวงู ว่าวคน ว่าวกระบอก และว่าวใบไม้ ว่าวที่นิยมเล่นกันมาก คือว่าววงเดือนแบบมี คนรุ่นก่อนๆ มักนิยมเล่นว่าววงเดือน ซึ่งมีขนาดที่ใหญ่คือการทำว่าวที่มีขนาดของปีกยาวประมาณ 3-4 เมตร ใช้คนส่งว่าวขึ้น 2-3 คน และคนชัก 3-4 คน ส่วนว่าววงเดือนอีกชนิดหนึ่งจะเป็นแบบไม่มีแอกซึ่งเล่นเพื่อการแข่งขันว่าวตัว


วิธีการทำและอุปกรณ์การทำว่าว
   
ว่าวเป็นการละเล่นที่สามารถหาอุปกรณ์ได้ง่ายแต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่ควรใส่ใจก็คือเรื่องของการเลือกวัสดุที่มีคุณภาพมาประกอบการทำว่าวเพื่อให้ว่าวสามารถตัวอยู่บนอากาศได้อย่างสวยงาม เริ่มจากการหาไม้มาประกอบเป็นโครงสร้าง ไม้ที่นำมาประกอบเป็นโครงสร้างโดยทั่วไปแล้วสามารถใช้ไม้ชนิดใดก็ได้แต่ ส่วนใหญ่นิยมนำไม้ไผ่มาใช้ เนื่องจากไม้ไผ่เป็นไม้ที่มีความยืดหยุ่นและเหนียว ทนแรงลม การเลือกไม้ไผ่ควรเลือกไม้ที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไปแล้วผ่าซีกนำไปตากแดด เหลาให้มีขนาดที่พอดีไม่เล็กจนเกินไปเพราะจะไม่สามารถต้านแรงลมได้นาน หรือไม่ควรใหญ่จนเกินไปเพราะหากมีน้ำหนักมากเกินไปอาจจะทำให้ว่าวขึ้นสู่กระแสลมได้ไม่สูงไม่สวยงาม อุปกรณ์ต่อมาก็จะเป็นเรื่องของสายป่านหรือเชือกที่นำมาผูกกับไม้สายที่นำมาผูกควรเหนียว การผูกสายป่านควรผูกให้แต่ละด้านให้เท่ากันและรัดให้แน่นต่อมาอุปกรณ์ที่สำคัญชิ้นสุดท้ายก็เป็นกระดาษที่ใช้นำมาปิดว่าว กระดาษที่นิยมคือกระดาษสา โดยนำกระดาษมาตัดตามรูปโครงว่าวให้ใหญ่กว่าขนาดโครงว่าวเล็กน้อยแล้วนำกาวมาติดตามขอบของโครงว่าว ซึ่งในปัจจุบันก็มีการสร้างสรรค์นำสี หรือกระดาษสีต่างๆนำมาติดเพื่อความสวยงามมากมายพร้อมทั้งเป็นการยึดให้กระดาษติดโครงว่าวมากขึ้น


วิธีการเล่นว่าวและการแข่งขันบนอากาศของว่าวจุฬากับว่าวปักเป้า
ภาพจากhttp://www.freehomepages.com/mitmitee/new_page_16.htm
วิธีการเล่นว่าว

           การนำว่าวขึ้นสู่กระแสลมหากว่าเล่นเพียงคนเดียวก็ให้เอาวางราบอยู่กับพื้น หันหัวว่าวมาทางหัวคนชักว่าว ระยะห่างจากตัวสัก 2-3 เมตร แล้ววิ่งพร้อมกระตุกสายป่านโดยการรักษาจังหวะการกระตุก ไม่แรงเกินไปเพื่อให้ว่าวสามารถปรับตัวเข้ากระแสลม แต่หากเล่นกัน 2 คน ก็ให้อีกคนหนึ่งเป็นคนส่งว่าว อีกคนหนึ่งก็เป็นคนชักว่าวโดยคนส่งว่าวควรห่างจากคนชักว่าวประมาณ 4-5 เมตร ตั้งหัวว่าวขึ้นเพื่อรอจังหวะของกระแสลมแล้วจึงส่งว่าวไป คนชักว่าวจะกระตุกสายป่านจนว่าวลอยขึ้นแล้วก็ควบคุมโดยการกระตุกสายป่านให้เป็นถูกจังหวะ การบังคับว่าวหากว่าแรงที่เรากระตุกสายป่านมีมากจะทำให้ว่าวขึ้นได้สูงตามแรงที่เรากระตุก และหากต้องการผ่อนลงมาให้ว่าวอยู่ในระดับที่ต่ำก็ควรลดแรงลงมาเล็กน้อย

การแข่งขันเล่นว่าวจุฬากับว่าวปักเป้า

ภาพจาก http://www.freewebs.com/bin10229/index4.html
การแข่งขัน
           ในปัจจุบันว่าวที่นิยมนำมาแข่งขันกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็เห็นจะเป็นว่าวจุฬากับว่าวปักเป้า ซึ่งเป็นว่าวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกัน และเปรียบเหมือนคู่ปรับกันด้วย โดยโครงสร้างของว่าวจุฬาจะมีขนาดใหญ่ มีกำลังมาก หากเปรียบเทียบแล้ว ว่าวจุฬาจะมีขนาดใหญ่กว่าว่าวปักเป้าเป็น 2 เท่า การแข่งขันเริ่มจาก ผู้เล่นทั้งสองฝ่าย อยู่ในบริเวณของตน โดยจะให้ว่าวของตัวเองโฉบเข้าหาอีกฝ่ายหนึ่ง ว่าวปักเป้าจะมีเหนียงที่เป็นเชือกป่านคล้องตัวว่าวจุฬาให้เสียการทรงตัวซึ่งว่าวปักเป้าที่อยู่ในแดนของตนก็จะร่อนไปมาเพื่อหาโอกาสโฉบว่าวจุฬามาโดยการใช้เหนียง ส่วนว่าวจุฬาจะ ติดดอก จำปาไว้ ซึ่งดอกจำปานี้จะทำให้ว่าวปักเป้ามาติดว่าวจุฬา ในขณะการเล่นผู้ชักว่าวทั้งสองฝ่ายห้ามล้ำแดนกัน กฎการได้ชัยชนะคือหากว่าวจุฬาสามารถลากพาว่าวปักเป้าเข้าทีละตัวหรือหลายตัวก็ได้ ถ้านำคู่ต่อสู้มาในแดนของตนได้สำเร็จก็เป็นฝ่ายชนะ หรือ ว่าวปักเป้าลากพาว่าวจุฬามาแดนของตนได้ก็เป็นฝ่ายชนะได้เช่นกัน แต่ถ้าหากว่าขณะที่ชักมาว่าวปักเป้าขาดลอยไปเสียก็ไม่มีฝ่ายใดได้คะแนน
คุณค่าและประโยชน์ในการเล่นว่าว
           ว่าวเป็นกีฬา การละเล่นที่มีมาช้านาน รวมทั้งบ่งบอกเอกลักษณ์ของความเป็นไทยได้ดี เป็นการฝึกใช้ความสามารถทางศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ ความแข็งแรง อดทน ความมีไหวพริบ ความสามัคคีที่ต้องช่วยกันให้ชนะอีกฝ่าย

บรรณานุกรม
ยุพิน ธชาศรี . ว่าวไทย .กรุงเทพฯ :กิมง้วนการพิมพ์, 2526
พระยาภิรมย์ภักดี(บุญรอด เศรษฐบุตร) . ตำนานว่าวพนัน : กรุงเทพฯ . สำนักพิมพ์วัฒนาพาณิช จำกัด , 2520
พิพิธภัณฑ์ว่าวไทย http://www.kalamung.com/index25.html
ว่าวไทย” http://socialscience.igetweb.com/index.php?mo=3&art=8946
ว่าวไทยhttp://www.freewebs.com/bin10229/index.html
ภาพประกอบ
ว่าวที่นิยมเล่นในเทศกาลการจัดการแข่งขันการเล่นว่าว จาก  http://www.thailand-huahin.com/t-pictures-huahin-kite-festival.htm
ว่าวภาคเหนือจาก  http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK13/pictures/l13-189c.jpg
ว่าวจุฬาจาก http://www.thailandpost.com/images/stamp_unseen/Week2004_01.jpg
ว่าวงู จาก http://www.freewebs.com/bin10229/index.html
วิธีการเล่นว่าวและการแข่งขันบนอากาศของว่าวจุฬากับว่าวปักเป้าจาก http://www.freehomepages.com/mitmitee/new_page_16.htm
การแข่งขันเล่นว่าวจุฬากับว่าวปักเป้าจาก http://www.freewebs.com/bin10229/index4.html

รวบรวมข้อมูลโดย : น.ส. โศธิดา ศิริอำนวยศิลป์ นักศึกษาช่วยงาน ปีงบประมาณ 2551  งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ

แหล่งที่มา : http://www.lib.ru.ac.th/journal/kite.html

ประเภทของว่าว

ว่าวแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรก คือ ว่าวแผง ซึ่งเป็นว่าวที่ไม่มีความหนา มีแต่ส่วนกว้างและส่วนยาว เช่น ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวอีลุ้ม ว่าวรูปสัตว์ ว่าวประเภทที่ ๒ คือ ว่าวภาพ เป็นว่าวที่ประดิษฐ์ให้มีลักษณะพิเศษ เพื่อแสดงแนวความคิด และฝีมือในการประดิษฐ์ ว่าวภาพยังแบ่งออกย่อยๆ ได้ ๓ ประเภท ได้แก่ ประเภทสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ และตลกขบขัน

ว่าวภาพและว่าวแผงมีรูปทรงและสีสันต่างๆ กัน โดยมีชื่อเรียกต่างๆ ดังนี้


ว่าวจุฬา
ว่าวจุฬา

ว่าวจุฬาถือเป็นว่าวเอกลักษณ์ประจำชาติไทย มีรูปร่างเหมือนดาว ๕ แฉก หรือมะเฟืองผ่าฝาน สามารถบังคับให้เคลื่อนไหวในท่าต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว และสง่างาม กีฬาว่าวพนันถือว่าว่าวจุฬาเป็นว่าวตัวผู้ ใช้เล่นตัดสินแพ้-ชนะกับว่าวปักเป้า ซึ่งถือเป็นว่าวตัวเมีย ว่าวจุฬามีอาวุธประจำตัวติดอยู่ตรงสายว่าว เรียกว่า จำปา ใช้สำหรับเกี่ยวเหนียง หาง และสายป่านของว่าวปักเป้า หากว่าวจุฬาเกี่ยวเหนียง หรือสายป่านว่าวปักเป้าได้ ๒ รอบ ว่าวปักเป้าจะผ่อนไม่ออก

ว่าวปักเป้า

ว่าวปักเป้าถือเป็นเอกลักษณ์ของว่าวภาคกลาง และเป็นว่าวประจำชาติไทยเคียงคู่กับว่าวจุฬา มีโครงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนคล้ายว่าวอีลุ้ม แต่โครงไม้ไผ่ส่วนที่เป็นปีก จะแข็งกว่าปีกของว่าวอีลุ้มมาก จึงต้องมีหางยาวถ่วงที่ปลาย และมีอาวุธ เรียกว่า “เหนียง” ขณะลอยอยู่ในอากาศจะส่ายไปส่ายมา โฉบเฉี่ยวในท่าต่างๆ ได้อย่างฉับไวคล่องตัว เมื่อถึงฤดูแข่งขันว่าวพนัน หากพบเห็นว่าวจุฬามักเห็นว่าวปักเป้าลอยพัวพันอยู่ด้วยเสมอ


ว่าวปักเป้า

ว่าวอีลุ้ม
ว่าวอีลุ้ม

ว่าวอีลุ้มมีรูปแบบคล้ายว่าวปักเป้า และมีรูปทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ที่ปลายปีก ๒ ข้างติดพู่กระดาษเพื่อช่วยการทรงตัวในอากาศ การเล่นว่าวอีลุ้มของทางภาคกลางได้พัฒนาเป็น การเล่นว่าวสายป่านคม ซึ่งได้รับแบบอย่างมาจากชาวอินเดีย โดยส่งว่าวอีลุ้มสายป่านคม ให้ลอยไปตัดว่าวของผู้อื่น ว่าวอีลุ้มสายป่านคมจึงกลายเป็นกีฬาว่าวอีกประเภทหนึ่ง ที่เล่นตัดสินแพ้-ชนะกัน

ว่าวดุ๊ยดุ่ย

ว่าวดุ๊ยดุ่ย หรือว่าวตุ๊ยตุ่ย มีรูปแบบคล้ายว่าวจุฬา แต่ต่างกันที่ว่าวดุ๊ยดุ่ยมีปีกขนาดเล็กแทนขากบ ของว่าวจุฬา และที่ส่วนหัวจะผูก ธนู หรือ สะนู หรือ อูด ทางภาคใต้เรียกว่า แอก ซึ่งทำจากไม้ไผ่ดัดโค้ง ผูกเชือกที่ปลายทั้ง ๒ ข้าง คล้ายคันธนู บนเส้นเชือกติดแผ่นหวายบางๆ หรือใบลาน ทำให้เกิดเสียงดัง ดุ๊ย ดุ่ย เมื่อลอยไปมาอยู่ในอากาศ ส่วนหางจะใช้ใบลานต่อกัน ๒ ข้าง ซึ่งทำให้การเคลื่อนตัวของว่าวเชื่องช้าและสง่างาม ในจังหวัดบุรีรัมย์มีว่าวลักษณะเหมือนว่าวดุ๊ยดุ่ย แต่เรียกว่า “ว่าวสองห้อง” ซึ่งนำมาใช้แข่งขันกัน ว่าวสองห้องพบมากในภาคอีสาน


ว่าวดุ๊ยดุ่ย

ว่าวงู
ว่าวงู

ว่าวงูเป็นว่าวรูปสัตว์ที่นิยมเล่นทั่วทุกภาคโครงว่าวทำง่ายๆ เป็นส่วนหัวและส่วนหา ส่วนหัวมีรูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู แต่ด้านบนโค้งมนคล้ายหัวงูกำลังแผ่แม่เบี้ย หางทำจากกระดาษย่น ยาวเรียวคล้ายหางงู รูปทรงที่ดูแปลกตาและสีสันฉูดฉาด ทำให้สวยงามโดดเด่น ถ้าเขียนเกล็ดจะสวยงามมากขึ้น ว่าวงูเป็นว่าวแผงที่ขึ้นง่ายที่สุด เพราะมีหางที่ถ่วงให้ขึ้น แต่การเล่นว่าวงูหรือว่าวแผงอื่นๆ ต้องเล่นในสภาพลมกำลังดี หากลมแรงมาก ว่าวจะควงทุกตัว

ว่าวหัวแตก

ว่าวหัวแตกดัดแปลงรูปแบบมาจากว่าวอีลุ้ม แต่ผ่าหัวเป็น ๒ แฉก แล้วใช้กระดาษแผ่นเล็กๆ กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร ขึงติดกับด้ายให้ตึง โยงติดระหว่างหัวที่ผ่าออก เมื่อว่าวลอยติดลมบน จะมีเสียงดัง


ว่าวหัวแตก

ว่าวเต่า
ว่าวเต่า

ว่าวเต่ามีโครงว่าวรูปร่างเหมือนเต่า เมื่อติดกระดาษทับแล้ววาดเส้นระบายสี ดูคล้ายตัวเต่า เป็นว่าวที่สร้างสรรค์จินตนาการมาจากเต่าที่คนไทยมีความคุ้นเคย โดยเชื่อว่าเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน และการปล่อยเต่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ ดังนั้น การชักว่าวรูปเต่า จึงเป็นเสมือนการต่ออายุ ให้ผู้เล่นว่าวด้วย ว่าวเต่าเปิดให้ลมเข้าทางโครงด้านบน ส่วนโครงด้านล่างเป็นทางลมออก ลมจึงดันว่าวให้ขึ้นไปได้ อีกรูปแบบหนึ่ง คือ ว่าวแผงที่เป็นว่าวเต่า แต่ใส่หางยาว ๒ ข้าง ผูกคอซุงให้เอียง หากตั้งว่าวให้เอียง ๖๐ องศา ว่าวจะขึ้นได้ดีมาก

ว่าวใบไม้

ว่าวใบไม้ใช้ใบไม้ เช่น ใบตองชาด หรือใบตองกุง เมื่อตากแห้งแล้วสามารถนำมาผูกคอซุง ด้านหน้า ๒ เส้น และใส่หางไว้สำหรับผูกเชือก ที่ปลายใบประมาณ ๓ ช่วง แล้วนำหญ้าแฝกหรือหญ้าคามาผูกเป็นหางว่าว เป็นของเล่นพื้นบ้าน นิยมเล่นกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออาจผูกโครงว่าว แล้วนำใบไม้มากรุ แทนกระดาษว่าว ก็สามารถทำได้ โดยมักผูกขึ้นเป็นรูปทรงเรขาคณิตง่ายๆ เช่น วงกลม สามเหลี่ยม ครึ่งวงกลม ฯลฯ และต้องมีหาง ว่าวใบไม้มักไม่ทนทาน มีอายุการใช้งานสั้น แต่มีความโดดเด่นแปลกตาด้วยลักษณะพิเศษ ของวัสดุที่ใช้


ว่าวใบไม้

ว่าวประทุน
ว่าวประทุน

ว่าวประทุนมีรูปทรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนปีกพับเข้าทั้ง ๒ ข้าง ความสวยงามอยู่ที่ขนาด การออกแบบลวดลาย และสีสันของตัวว่าว เป็นว่าวที่เด็กๆ นิยมเล่นกัน โดยใช้กระดาษสมุดนำมาพับ ปัจจุบัน ว่าวชนิดนี้ทำน้อยหรือไม่ค่อยพบเห็นแล้ว

ว่าวคากตี่

ว่าวคากตี่เป็นว่าวที่ดัดแปลงพัฒนามาจากว่าวดุ๊ยดุ่ยและว่าวจุฬา โดยมีส่วนปีกบนคล้ายว่าวดุ๊ยดุ่ย มีพู่ห้อย ๒ ข้าง และปีกล่างทำมุมคล้ายขากบของว่าวจุฬา แต่แคบและเล็กกว่า


ว่าวคากตี่

ว่าวแมลงวันหัวเขียว
ว่าวแมลงวันหัวเขียว

ว่าวแมลงวันหัวเขียวมีรูปร่างคล้ายแมลงวัน เป็นว่าวประเภทตลกขบขัน ผู้ที่คิดทำว่าวตัวนี้ คือ นายเกิด  สุขชิต บิดาบุญธรรมของนายปริญญา  สุขชิต ขณะทำว่าว มีอายุ ๘๒ ปี ถือว่าเป็นผู้ทำว่าวที่มีอายุมากที่สุดในขณะนั้น เมื่อชักว่าวขึ้นไป ต้องกระตุกให้ว่าวขึ้นและตกหัวทิ่มพื้น ทำให้ขบขัน เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้ ว่าวแมลงวันหัวเขียวได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันว่าว ที่ท้องสนามหลวง และว่าวตัวนี้ได้นำไปแสดงที่ประเทศสิงคโปร์

ว่าวปลาปีกแอ่น

ว่าวปลาปีกแอ่นมีรูปร่างคล้ายตัวปลา มีปีกยื่นออกมา ๒ ข้างคล้ายครีบ ดัดแปลงพัฒนามาจากว่าวอีลุ้ม แต่ยื่นส่วนโครงไม้ไผ่โค้งออกมา ๒ ข้าง และเพิ่มส่วนหางปลาด้านล่าง ชาวไทยภาคใต้ ซึ่งคุ้นเคยกับชีวิตชาวทะเล ที่หาปลาเป็นอาหาร ได้นำเอารูปร่างของปลาที่พบเห็นทุกวันมาดัดแปลง ทำเป็นว่าว สำหรับใช้เล่นเพื่อความบันเทิง


ว่าวปลาปีกแอ่น

ว่าวปลา
ว่าวปลา

ว่าวปลามีรูปแบบคล้ายว่าวปลาปีกแอ่น ทำโครงว่าวแบบเดียวกัน แต่ส่วนปีกไม่มีไม้ยื่นออกมาทั้ง ๒ ข้าง เป็นแบบง่ายๆ คือ มีหัว ลำตัว และหาง ความสวยงามอยู่ที่เกล็ดปลา ซึ่งใช้กระดาษติดที่ตัวว่าว เขียนลวดลายเหมือนเกล็ดปลา แล้วระบายสีสันหลายสี บางตัวอาจแต้มจุดหรือลาย

ว่าวปลาวาฬ

ว่าวปลาวาฬมีรูปแบบคล้ายว่าวปลาปีกแอ่น แต่ไม่มีปีกยื่นออกมา ๒ ข้าง ส่วนหัวทำคล้ายรูปปากปลาวาฬ โดยทำเป็นว่าวหัวแตก ผ่าหัวปลาเป็น ๒ แฉก และมีไม้ไผ่วงกลมติดที่ปลายปาก เมื่อติดกระดาษว่าวแล้ววาดเป็นรูปร่างของปลาวาฬ ทำให้ดูเหมือนจริงมากขึ้น


ว่าวปลาวาฬ

ว่าวควาย
ว่าวควาย

ว่าวควายเปรียบเหมือนว่าวดุ๊ยดุ่ยของภาคใต้ ตอนบนมีปีกโค้งเช่นเดียวกับว่าวดุ๊ยดุ่ย แต่ตอนล่างทำโครงรูปร่างเหมือนหัวควาย มีเขายาวโค้งรับกับปีกบน ส่วนหัวติดแอก เพื่อให้เกิดเสียงดังคล้ายเสียงร้องของควายขณะเมื่อว่าวถูกชักขึ้นสู่ท้องฟ้า ว่าวควายจัดได้ว่า เป็นเอกลักษณ์ของว่าวภาคใต้ประเภทหนึ่ง ที่ไม่เหมือนกับว่าว ของภาคอื่นๆ โดยเฉพาะจังหวัดสตูลซึ่งเริ่มทำว่าวควายเป็นแห่งแรก และนำมาใช้ในการแข่งขัน ประเภทมีเสียงดังกังวาน แต่ละปีมีว่าวควายเข้าร่วมแข่งขัน จำนวนถึง ๓๐๐ ตัว เป็นการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นประเพณีที่มีมาจนถึงปัจจุบัน

ว่าวอีแพรด

ว่าวอีแพรดภาคกลางมีรูปแบบเช่นเดียวกับว่าวอีแพรดภาคเหนือ ต่างกันที่ว่าวอีแพรดภาคกลาง นิยมติดพู่ที่ห้อยปีกทั้ง ๒ ข้าง  ส่วนภาคเหนือ ไม่นิยมติดพู่ ชื่อของว่าวน่าจะมาจากเสียงของชายกระดาษที่ติดอยู่ที่ด้านข้าง (ซึ่งเหลือทิ้งไว้ไม่ตัดออก) เวลาปะทะกับลมจะเกิดเสียงดังแพรดๆ


ว่าวอีแพรด

ว่าววงเดือน
ว่าววงเดือน

ว่าววงเดือนได้รับเอาแบบอย่างมาจากว่าวบุหลัน หรือว่าวพระจันทร์ของประเทศมาเลเซีย ปลายว่าวเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม ว่าววงเดือนนิยมเล่นกันในหมู่ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ในจังหวัดภาคใต้ ที่อยู่ถัดจากจังหวัดสงขลาลงไป และเล่นเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ เพื่อความสมัครสมานสามัคคี

ว่าวขึ้นสูง

ลักษณะเหมือนว่าวควาย แต่ตัดบางส่วนออก นิยมใช้เพื่อการแข่งขัน ซึ่งแต่ละครั้ง มีว่าวเข้าร่วมประมาณ ๔๐๐ ตัว โดยแข่งรอบละ ๔ ตัว อุปกรณ์ในการตัดสินคือ อุปกรณ์วัดองศา แต่ละรอบจะนำว่าวจำนวน ๔ ตัวไปผูกไว้ แล้วให้ว่าวแต่ละตัว ดันลวดที่ผูกไว้ให้ขึ้นสูง ตามเวลาที่กำหนด โดยใช้ขันเจาะรูใส่ลงในโถแก้วที่มีน้ำ เมื่อขันจมถือว่าหมดเวลา ว่าวตัวใดขึ้นสูงที่สุดถือว่าผ่านเข้ารอบ และไปรอแข่งขัน ในรอบต่อๆ ไปกับว่าวที่คัดไว้แต่ละรอบ โดยแข่งไปจนกว่าจะเหลือว่าว ที่ได้เข้าแข่งขัน ในรอบสุดท้าย และมีว่าวที่ชนะเลิศอยู่เพียงตัวเดียว การแข่งขันว่าวขึ้นสูงนี้ จัดขึ้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดสตูลและสงขลา ซึ่งจัดขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยเป็นการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


ว่าวขึ้นสูง

ว่าวนก
ว่าวนก

โครงของว่าวนกในช่วงปีกตอนบนมีลักษณะรูปร่างคล้ายว่าวควาย ต่างกันตรงตอนล่าง ที่มีการออกแบบ ให้เป็นรูปหางนกแบบต่างๆ ส่วนหัวทำเป็นรูปหัวนก และมักติดแอก เพื่อให้เกิดเสียงดัง ความสวยงามของว่าวนกอยู่ที่การออกแบบลวดลายและสีสันของตัวนก ว่าวนกบางตัวออกแบบรูปร่างของปีกคล้ายปีกนกจริงมาก เมื่อว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า จึงมีลีลา คล้ายการโผบินของนก ตามธรรมชาติ

ว่าวสกายแล็บ

เป็นว่าวที่มีมิติ มีความกว้าง ยาว สูง และมีความหนาเหมือนของจริง จัดอยู่ในประเภท ความคิดสร้างสรรค์ เมื่อทำเสร็จสมบูรณ์จะใส่ควันสีตรงส่วนหาง ซึ่งเป็นเทคนิคพิเศษ ที่เหมือนกับของจริง ว่าวสกายแล็บจะขึ้นยาก เพราะเป็นว่าวทรงกลม แต่มีปีก จึงทำให้สามารถขึ้นได้ ว่าวสกายแล็บได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดชิงถ้วยพระราชทาน โดยผู้คิดทำว่าวนี้ คือ นายปริญญา  สุขชิต


ว่าวสกายแล็บ

ว่าวนกยูง
ว่าวนกยูง

ว่าวนกยูงมีรูปแบบคล้ายกับว่าวนกทั่วไปของภาคใต้ ความสวยงามโดดเด่นอยู่ที่ส่วนหาง ซึ่งออกแบบให้คล้ายกับหางนกยูงรำแพน รวมทั้งสีสันและลวดลายของว่าว ที่ใกล้เคียงกับนกยูงจริง จึงจัดเป็นว่าวประเภทสวยงามตัวหนึ่ง ในบริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งประชาชนนิยมนำว่าวมาเล่น มีว่าวนกยูงจำหน่าย ซึ่งมีลวดลายอยู่ ๒ แบบ คือ เขียนลายทั้งตัวแบบหนึ่ง และสกรีนสีดำแล้วใส่สีตามช่องอีกแบบหนึ่ง ราคาจะแตกต่างกัน

ว่าวปลาทอง

ว่าวปลาทองเป็นว่าวประเภทสวยงาม มีทั้งชนิดว่าวแผง และว่าวภาพสามมิติ ได้รับแนวคิดนี้มาจากว่าวปลาทองของประเทศจีน ซึ่งชาวจีนนิยมเลี้ยงปลาทองไว้ดูเล่น จึงนำเอารูปแบบมาทำเป็นว่าว นิยมทำเพื่อใช้ประกวดด้านความสวยงาม มากกว่าใช้เล่น เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน


ว่าวปลาทอง

ว่าวสิงห์
ว่าวสิงห์

เป็นว่าวที่มีมิติ ว่าวสิงห์ขึ้นรูปทรงยากมาก เพราะว่าวทั่วไปจะมีความสมดุลกันทั้ง ๒ ข้าง แต่สำหรับว่าวสิงห์ รูปทรงส่วนหัวจะหนักกว่าส่วนหาง เพราะเมื่อขึ้นโครงว่าว จะต้องใช้เหล็กประมาณ ๑ กิโลกรัม ถ่วงเอาไว้ที่ด้านท้ายของว่าว ว่าวจึงจะขึ้นได้ การผูกคอซุงจะต้องใช้เชือกผูกมากกว่า ๒๐ เส้น และให้ว่าวเอียง ๖๐ องศา เปิดด้านบน และด้านล่าง เพื่อให้ลมเข้า ว่าวสิงห์นอกจากสวยงามแล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์ ในการถ่ายทำโฆษณา โดยเฉพาะโฆษณาที่มีดนตรีไทยบรรเลงประกอบ

ว่าวงูใหญ่

เป็นว่าวงูที่มีสถิติหางยาวที่สุดในโลก คือ ๑,๒๙๒ เมตร ส่วนหัวว่าวมีความกว้าง ๔.๕ เมตร ส่วนหางมีความกว้าง ๘,๐๐๒ ตารางฟุต โดยสถิติเดิมกว้าง ๖,๓๓๒ ตารางฟุต และปลายหางค่อยๆ เรียวสอบลงมา ว่าวงูใหญ่มีน้ำหนักรวม ๑๒๘ กิโลกรัม มีการนำว่าวงูใหญ่ไปทดลองชัก ๒ ครั้ง ที่สนามบินกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และที่ท้องสนามหลวง โดยมีคนขึ้นไปกับว่าวด้วย ว่าวขึ้นได้สูงจากพื้นดินประมาณ ๑๕๐ เมตร โดยใช้เชือกที่มีความยาว ๔๐๐ เมตร


ว่าวงูใหญ่

ว่าวกาชาด
ว่าวกาชาด

ว่าวกาชาดมีลักษณะเหมือนตราสัญลักษณ์กาชาด จัดทำขึ้น ในโอกาสที่มีการจัดการแข่งขันว่าว เพื่อหารายได้บำรุงสภากาชาดไทย ใน พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยนายปริญญา  สุขชิต และได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทความคิดสร้างสรรค์ ว่าวกาชาดสามารถทำเองได้ โดยใช้ไม้ ๘ อัน ซึ่งเหลาให้มีขนาดเท่าหลอดกาแฟ มาผูกเป็นโครง ให้เป็นรูปสัญลักษณ์กาชาด และใช้ไม้ ๑๒ อัน เป็นลูกตั้ง ขนาด ๔๐ เซนติเมตร จากนั้นติดกระดาษแล้วผูกสายซุงด้านบนเส้นเดียว ไม่ติดกระดาษ ทั้งด้านบน และด้านล่าง

ว่าวผีเสื้อ

ว่าวผีเสื้อเป็นว่าวรูปสัตว์ซึ่งรับรูปแบบมาจากว่าวของต่างประเทศ เช่นเดียวกับว่าวรูปสัตว์อื่นๆ ว่าวผีเสื้อทำขึ้นอย่างง่ายๆ มีลวดลาย และสีสันหลากหลายสวยงาม เป็นว่าวที่เด็กๆ ทุกภาคชอบเล่นเพื่อความบันเทิง


ว่าวผีเสื้อ

ว่าวแมลงปอ
ว่าวแมลงปอ

ว่าวแมลงปอเป็นว่าวภาพประเภทสวยงาม โดยเกิดจากความประทับใจสัตว์เล็กๆ ชนิดหนึ่งที่มีปีกบางเบา และลักษณะการร่อนบินที่นุ่มนวลเป็นธรรมชาติ เมื่อนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างสรรค์ทำเป็นว่าว แล้วแต่งแต้มสีสันลงไป ทำให้ว่าวแมลงปอดูมีชีวิตชีวา และกลมกลืนกับท้องฟ้า

ว่าวผีเสื้อ

ว่าวผีเสื้อเป็นว่าวรูปสัตว์ซึ่งรับรูปแบบมาจากว่าวของต่างประเทศ เช่นเดียวกับว่าวรูปสัตว์อื่นๆ ว่าวผีเสื้อทำขึ้นอย่างง่ายๆ มีลวดลาย และสีสันหลากหลายสวยงาม เป็นว่าวที่เด็กๆ ทุกภาคชอบเล่นเพื่อความบันเทิง


ว่าวผีเสื้อ

ว่าวกินรี
ว่าวกินรี

ว่าวกินรีจัดเป็นว่าวประเภทสวยงามเช่นกัน แนวคิดในการออกแบบ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวในวรรณคดี นำมาทำเป็นว่าว  นอกจากมีความสวยงามแล้ว ยังแฝงจุดมุ่งหมาย ให้ผู้พบเห็นได้ระลึกถึงเรื่องราว ในวรรณคดีไทย ซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าด้วย

ว่าวจุฬาจิ๋วและว่าวปักเป้าจิ๋ว

ว่าวจุฬาจิ๋วและว่าวปักเป้าจิ๋ว มีรูปแบบทุกอย่างเหมือนว่าวจุฬาและว่าวปักเป้าทั่วไป เพียงแต่ย่อสัดส่วนลงมา จนมีขนาดเล็กจิ๋ว เก็บในกล่องไม้ขีดไฟ สามารถชักขึ้นสู่ท้องฟ้าได้เช่นเดียวกับว่าวขนาดใหญ่ แต่ผู้ชมอาจต้องใช้กล้องส่องทางไกลส่องดู ว่าวจุฬาจิ๋วและว่าวปักเป้าจิ๋วจัดเป็นว่าวของที่ระลึกที่ทำได้ยากและได้รับความนิยมสูง ผู้ที่คิดทำว่าวนี้คือ นายสังเวียน  ปัทมดิลก (เป็นตาของนายปริญญา  สุขชิต) ทำขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยทำว่าวจุฬาใส่ในกล่องไม้ขีดไฟ และทำว่าวจุฬาขนาด ๒ ศอก ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ทำให้ นายปริญญา  สุขชิต ได้รับความรู้และประสบการณ์มาจนกระทั่งทุกวันนี้


ว่าวจุฬาจิ๋วและว่าวปักเป้าจิ๋ว

ว่าวหุ่นยนต์
ว่าวหุ่นยนต์

ว่าวหุ่นยนต์เป็นว่าวภาพสามมิติ โครงว่าวทำเป็นรูปหุ่นยนต์เพื่อให้เข้ากับโลกปัจจุบัน ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จนสามารถประดิษฐ์หุ่นยนต์ขึ้นมาใช้งานแทนมนุษย์ได้

ว่าวรถตุ๊กตุ๊ก

ว่าวรถตุ๊กตุ๊ก เป็นว่าวแผงที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทความคิดสร้างสรรค์ ในการประกวดแข่งขันว่าว ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ ความสวยงามของภาพรถตุ๊กตุ๊กเป็นสิ่งสะท้อนเอกลักษณ์ยานพาหนะของไทยได้เป็นอย่างดี และเมื่อทำเป็นว่าวของที่ระลึก ก็ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ


ว่าวรถตุ๊กตุ๊ก

ว่าวรถถัง
ว่าวรถถัง

ว่าวรถถังเป็นว่าวภาพสามมิติ ผู้ที่คิดทำขึ้น ได้นำรูปแบบของรถถัง ที่คนทั่วไปคุ้นเคยกันดี มาทำเป็นว่าว ชักขึ้นสู่ท้องฟ้า สร้างความสนใจให้แก่ผู้พบเห็น ที่รถถังสามารถลอยอยู่บนท้องฟ้าได้

ว่าวนกเหยี่ยว

ว่าวนกเหยี่ยวมีรูปร่างเหมือนนกเหยี่ยว คือ โครงร่างส่วนปีกมีขนาดใหญ่ และแผ่กว้าง เหมือนกับปีกนกเหยี่ยว เมื่อว่าวลอยบนท้องฟ้า จึงดูเหมือนนกเหยี่ยว ที่กำลังบินโฉบเฉี่ยวไปมามองหาเหยื่อ ว่าวนกเหยี่ยวร่อนกลางอากาศได้สง่างาม กว่าว่าวรูปนกอื่นๆ


ว่าวนกเหยี่ยว
การทำว่าวแผงเป็นภาพตัวนกเหยี่ยวทำได้ยากมาก โดยเฉพาะการวาดภาพนกเหยี่ยวและระบายสีขนนกจะใช้เวลาถึง ๒ ชั่วโมง สำหรับไม้ไผ่ที่ใช้ทำโครงหลังของนกซึ่งต้องติดกระดาษจะใช้ไม้ไผ่ตง ว่าวนกเหยี่ยวมีจำหน่ายที่ท้องสนามหลวง

ว่าวหัวโต
ว่าวหัวโต

ว่าวหัวโตมักนิยมทำเป็นว่าวสามมิติ เป็นรูปมนุษย์ผู้ชายหรือผู้หญิง แต่มีสัดส่วนที่เกินจริง โดยออกแบบให้ส่วนหัวมีขนาดใหญ่ผิดปกติ คล้ายกับภาพการ์ตูน เมื่อลอยอยู่บนท้องฟ้า ส่วนหัวจะดูโดดเด่นเป็นพิเศษ ทำให้เกิดความขบขัน เรียกเสียงหัวเราะได้ ทำนองเดียวกับขบวนแห่หัวโต ออกมาร่ายรำอยู่บนถนนในงานบวช ซึ่งอาจเป็นแรงบันดาลใจ ให้คิดทำว่าวหัวโตขึ้น

ว่าวหัวผลุบโผล่

เป็นว่าวประเภทตลกขบขัน มีเอกลักษณ์พิเศษคือ ใช้ระบบลมเข้ามาเกี่ยวข้อง ลักษณะว่าวเป็นทรงกลม (แบบถังน้ำมัน) ผูกเป็นห่วงด้านใน ๒ ข้าง และตรึงด้วยไม้ไผ่สูง จากส่วนท้ายถึงปากถัง ห่วงจะเลื่อนขึ้นเลื่อนลง ศีรษะของตัวตลกเขียนลวดลายตรงคอ เวลาขึ้นว่าวจะไม่เห็นส่วนศีรษะ แต่เวลาผ่อนว่าว ลมจะดันศีรษะให้โผล่ขึ้นมา ทำให้เกิดความขบขัน เรียกเสียงหัวเราะได้


ว่าวหัวผลุบโผล่

ว่าวผี
ว่าวผี

แม้ผีจะมีภาพลักษณ์ดูน่ากลัว แต่คนไทยก็ชอบดูหนังผีตลกๆ รูปผีจึงเป็นสื่อที่แสดงอารมณ์ขัน ระคนความน่ากลัว ดังนั้น ช่างทำว่าวไทยจึงนำเอารูปแบบมาทำเป็นว่าว ส่วนรูปร่างหรือชนิดของผีนั้น ก็ทำขึ้นตามความนิยมในละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ในแต่ละยุคแต่ละสมัย เช่น ว่าวผีแม่นาคพระโขนง ว่าวผีภูตแม่น้ำโขง

ว่าวหัวล้านชนกัน

ว่าวหัวล้านชนกันได้รับแนวคิดมาจากการละเล่นชนิดหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่เรียกว่า “หัวล้านชนกัน” โดยผู้เล่นทั้ง ๒ ฝ่ายจะอยู่ภายในขอบเขตวงกลมที่กำหนดให้ แล้วขวิด โขก หรือดันศีรษะกัน ผู้เล่นฝ่ายใดถูกดันออกนอกวงกลม ถือว่าแพ้ รูปแบบของว่าวหัวล้านชนกัน เป็นโครงว่าวทรงกระบอก เขียนเป็นตัวคน ๒ คน ยืนประจันหน้ากัน มีลูกกลมๆ ๒ ลูก อยู่ด้านบน เขียนเป็นรูปศีรษะคน ใช้หนังสติ๊กผูกตรงคอให้ยืดไปยืดมาได้ เมื่อกระตุกสายป่านว่าว ศีรษะจะโขกกัน ทำให้เกิดความสนุกสนาน ตลกขบขัน


ว่าวหัวล้านชนกัน

ว่าวลุงเชย
ว่าวลุงเชย

ลุงเชยมักนำมาเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของชาวชนบทที่มีความจริงใจ แต่งกายเรียบง่าย อาจนุ่งเพียงผ้าขาวม้าผืนเดียว เป็นบุคคลสำคัญในการเปิดเรื่อง หรือเบิกโรงการแสดงต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง ซึ่งคนไทยชอบมาก ว่าวลุงเชยจึงมักนำมาใช้เปิดการแข่งขัน เพื่อให้มีอารมณ์ขันและสนุกสนานตั้งแต่เริ่มการแข่งขัน การเล่นว่าวประเภทตลกขบขัน ต้องอาศัยฝีมือ ของผู้ชักด้วย โดยอาจชักให้ว่าวตกลงมาถึงพื้นดินบ้าง เพื่อให้ผู้ชมหัวเราะ เมื่อว่าวดิ่งลงมาจากท้องฟ้า และหัวปักดิน จึงจะได้รับรางวัล ว่าวประเภทนี้ ผู้เขียนนิยมทำเข้าแข่งขัน และได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานมาโดยตลอด

 

แหล่งที่มา : http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=37&chap=4&page=t37-4-infodetail08.html