ประวัติ
สมาคมกีฬาไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
อันกีฬาไทยนั้น มีมากมายหลายชนิด มีอาทิเช่น ว่าว มวยไทย กระบี่กระบอง มหากรุกไทย ตะกร้อ และมีกีฬาเบ็ดเตล็ด ซึ่งกรมพลศึกษาได้รวบรวมจากจังหวัดต่าง ๆ พิมพ์เป็นหนังสือ “กีฬาพื้นเมือง” มีกีฬาอยู่หลายร้อยชนิด เข่น ตี่จับ ขักคะเย่อ วิ่งเปี้ยว สะกา เสือกินวัว แข่งเรือ วิ่งงัว แย้ลงรู ตีคลี สะบ้า ไม้หึ่ง เตย ตั้งเต ฯลฯ กีฬาเบ็ดเตล็ตเหล่านี้ มักเล่นตามฤดูกาล เช่นเวลาตรุษสงกรานต์เป็นต้น แต่ก็มีหลายชนิดได้หายไป เมื่อรวมความแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ไทยเรามีกีฬาไทย ซึ่งแสดงถึงศิลปและวัฒนธรรมประจำชาติ ตั้งแต่โบราณมาตราบจนปัจจุบันนี้
น่าจะกล่าวได้ว่า สมาคมกีฬาสยาม หรือสมาคมกีฬาไทย นี้ ได้เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นรูปร่างของสมาคมด้วย กีฬาว่าวแข่งของไทย โดยที่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราช รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดการแข่งขันว่าว ดังนั้น ในรัชสมัยของพระองค์ จึงมีพระบรมวงษานุวงศ์ ข้าราชการท่านผู้ใหญ่ ตลอดจนประชาชนสนใจ นำว่าวเข้าแข่งขันเพื่อชิงถ้วยพระราชทานเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อสิ้นสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว การแข่งขันว่าวก็ลดน้อยลง ต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ สถานที่สำหรับแข่งขันลดน้อยลง เพราะสนามแข่งขัน ได้กลายเป็นตึกรามบ้านช่องไปเกือบหมด มีสนามที่แข่งว่าวขนาดมาตรฐานได้ก็เพียงสนามหลวงแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนสนาม วัดดอน วัดโคก ใช้แข่งขันได้เฉพาะว่าวขนาดเล็ก แต่ยังมีประชาชนบางท่านยังสนใจอยู่ และเล่นกันตามฤดูกาล ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ สนามแข่งขันมีเพียงแห่งเดียว คือสนามหลวงเท่านั้น นักแข่งขันว่าวมือดี ๆ ก็แก่เฒ่าลง เศรษฐกิจตกต่ำ ค่าใช้จ่ายในการนำว่าวเข้าแข่งขันขาดแคลน การแข่งขันว่าวจึงเงียบหายไป
ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๐ มีนักกีฬาไทยประมาณ ๔-๕ ท่าน เห็นว่ากีฬาไทย ซึ่งเคยเล่นกันอยู่เป็นหลัก เช่น ว่าว ตะกร้อ หมากรุกไทย แต่ก่อนนั้นได้เล่นกันเป็นประจำ และมีผู้จัดแข่งขันอยู่เสมอเกือบทุกปี แต่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนี้ กีฬาเหล่านี้ได้เงียบหายไป หากปล่อยให้เป็นไปตามเหตุการณ์เช่นนี้แล้ว กีฬาอันเป็นศิลปและวัฒธนธรรมประจำชาติคงจะเสื่อมสูญไป หลังจากการปรึกษาหารือกันแล้ว จึงรวมกันตั้งสมาคมขึ้น เรียกว่า “สมาคมกีฬาสยาม” มีวัตถุประสงค์ที่จะบำรุงและส่งเสริมกีฬาของไทยประเภทต่าง ๆ เช่น ว่าว ตะกร้อ หมากรุกไทย ฯลฯ เป็นต้น โดยมี พระยาภิรมย์ภัภดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) เป็นนายกสมาคม และนายสนาม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๗
ทรงส่งว่าวจุฬาเครื่องหมาย “สามศร”
เข้าร่วมการแข่งขันในสมาคมกีฬาสยาม
เมื่อพระยาภิรมย์ภักดี กับคณะผู้สนใจกีฬาไทย ได้ร่วมกันตั้งสมาคม “กีฬาสยาม” ขึ้นสำเร็จแล้วนั้น นักกีฬาว่าวรุ่นเก่า ๆ ได้ให้ความร่วมมืนำว่าว จุฬา และปักเป้าเข้าแข่งขัน
ใน พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาสนับสนุนกีฬาไทยด้วยการทรงส่งว่าวจุฬาส่วนพระองค์ เครื่องหมายตรา “สามศร” เข้ามาร่วมในการแข่งขันของสมาคมกีฬาสยาม ทำให้กีฬาแข่งขันว่าวซึ่งได้ซบเซาไปในระยะหนึ่งนั้น ได้กลับมีชีวิตจิตยิ่งขึ้น ได้มีนักกีฬาว่าวมือใหม่เกิดขึ้นหลายสาย สายว่าวต่าง ๆ แน่นท้องฟ้า ย่านสนามหลวงเต็มไปด้วยผู้คนพลเมือง ต่างพากันมาชมการแข่งขันเป็นที่สนุกสนานอย่างยิ่ง
จดทะเบียนสมาคม
เมื่อพระยาภิรมย์ภักดีได้ทดลองตั้งสมาคมขึ้นแล้วปรากฎว่าได้รับความสนับสนุนจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี ดังนั้น ต่อมาเมื่อ วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงได้จดทะเบียบเป็นสมาคมที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เรียกชื่อสมาคมว่า “ สมาคมกีฬาสยาม” มีวัถตุประสงค์เพื่อบำรุงและส่งเสริมกีฬาไทย มี พระยาภิรมย์ภักดี เป็นนายกสมาคม ได้เลขทะเบียนที่ ๑๒๐ นับแต่บัดนี้เป็นต้นมา สมาคมกีฬาสยามก็เป็นสมาคมที่มีหลักฐานแน่นอน มีการแข่งขันกีฬาประจำอยู่ ๓ ชนิด คือ ว่าว ตะกร้อ และหมากรุกไทย
เปลี่ยนชื่อสมาคมกีฬาสยาม เป็นสมาคมกีฬาไทย
ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ ประเทศไทย ได้เปลี่ยนชื่อของประเทศ จากประเทศสยาม มาเป็นประเทศไทย ดังนั้น สมาคมจึงได้เปลี่ยนชื่อตาม จาก สมาคมกีฬาสยาม มาเป็นสมาคมกีฬาไทย นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันนี้
ทรงรับสมาคมกีฬาไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๐๓ อ้างถึง หนังสือสมาคมกราบบังคับทูลลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๐๓ โปรดเกล้าฯ รับสมาคมกีฬาไทยไว้ในพระบรมราธูปภัมภ์ ตามที่ขอพระมหากรุณา
สมาคมกีฬาไทยแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เริ่มก่อตั้งมาแต่ปีพุทธศักราช 2470 (คริสต์ศักราช 1927) ได้มีการจดทะเบียนก่อตั้ง ใช้ชื่อว่า “สมาคมกีฬาสยาม” อย่างเป็นทางการ โดยมีท่าน พระยาภิรมย์ภักดี เป็นนายกสมาคมกีฬาสยาม คนแรก จนถึงปี พ.ศ. 2475 จึงได้มีการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเป็นการถูกต้อง
และได้เปลี่ยนนายกสมาคมฯ ดังนี้
ปี พ.ศ. 2475 – 2479 นายยิ้ม ศรีหงษ์ เป็นนายกสมาคมกีฬาสยาม
ปี พ.ศ. 2480 – 2484 นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย ร.น. เป็นนายกสมาคมกีฬาสยาม
ในช่วงปี พ.ศ. 2482 “ประเทศสยาม” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ประเทศไทย” จึงทำให้ นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย ร.น. ดำรงตำแหน่งสองสถานภาพในคราวเดียวกัน กล่าวคือ ดำรงตำแหน่ง “นายกสมาคมกีฬาสยาม” และ “นายกสมาคมกีฬาไทย” ด้วย เพราะว่า “สมาคมกีฬาสยาม” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมกีฬาไทย” ตามการเปลี่ยนชื่อของประเทศ นั่นเอง
ปี พ.ศ. 2484 – 2490 พระยาจินดารักษ์ เป็นนายกสมาคมกีฬาไทย
ปี พ.ศ. 2490 – 2498 พันเอกหลวงรณสิทธิ์ เป็นนายกสมาคมกีฬาไทย
ปี พ.ศ. 2497 – 2498 สมาคมฯ ได้เชิญ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น ผู้อุปถัมภ์พิเศษ
ปี พ.ศ. 2498 – 2500 จอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์โกศล ร.น. เป็นนายกสมาคมกีฬาไทย
ปี พ.ศ. 2500 – 2517 ฯพณฯ จอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นนายกสมาคมฯ
ในช่วงปี พ.ศ. 2503 ฯพณฯ จอมพลประภาส จารุเสถียร ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตให้ “สมาคมกีฬาไทย” อยู่ “ในพระบรมราชูปถัมภ์” และทรงโปรดเกล้าให้สมาคมกีฬาไทยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2503
สมาคมกีฬาไทย จึงได้เปลี่ยนสถานภาพเป็น “สมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ปี พ.ศ. 2517 – 2518 หลวงสัมฤทธิ์ วิศวกรรม เป็นนายกสมาคมฯ
ปี พ.ศ. 2518 – 2526 พลโทเผชิญ นิมิบุตร เป็นนายกสมาคมฯ
ปี พ.ศ. 2526 – 2527 พันตรีประชา ธรรมโชติ เป็นนายกสมาคมฯ
ปี พ.ศ. 2527 – 2534 ว่าที่ร้อยตรีเสมอใจ พุ่มพวง เป็นนายกสมาคมฯ
ปี พ.ศ. 2534 – 2536 พลอากาศเอกอนันต์ กลินทะ เป็นนายกสมาคมฯ
ในช่วงปี พ.ศ. 2536 ขอจัดตั้งสมาคมกับการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้รับอนุมัติตามมาตรา 53 จาก กกท. เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2536 ใบอนุญาต เลขที่ 006/2536
ปี พ.ศ. 2536 – 2544 ร้อยตำรวจตรีเกรียงศักดิ์ โลหะชาละ เป็นนายกสมาคมฯ
ปี พ.ศ. 2544 – 2546 นายศิริ เปรมปรีดิ์ เป็นนายกสมาคมฯ
ปี พ.ศ. 2546 – 2550 คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน เป็นนายกสมาคมฯ
ปี พ.ศ. 2550 – 2551 นายนิคม ไวยรัชพานิช เป็นนายกสมาคมฯ
ปี พ.ศ. 2551 – 2553 คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน เป็นนายกสมาคมฯ
ในช่วงปี พ.ศ. 2553 ได้รับอนุมัติตามมาตรา 59 จาก กกท. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 ใบอนุญาต เลขที่ 003/2553 เป็น “สมาคมกีฬาไทยแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์”
ปี พ.ศ. 2554 – 2555 ปัจจุบัน นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ เป็นนายกสมาคมฯ
ปี พ.ศ. 2556 – ปัจจุบัน นางสาวปริยากร รัตนสุบรรณ เป็นนายกสมาคมฯ
สมาคมกีฬาไทยแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสมาคมที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 86 ปี (ก่อตั้งเมื่อปี 2470 โดยพระยาภิรมย์ภักดี และคณะ ใช้ชื่อว่า “สมาคมกีฬาสยาม”) ถึงแม้จะเป็นสมาคมเล็กๆ แต่ได้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ได้สืบสานมรดกของชาติไทย ถ่ายทอดให้อนุชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ได้ซึมซับรับรู้ว่าโลกของเด็กวัยเยาว์ อันสดใสมีกีฬาไทย มีการละเล่นไทยๆ ให้เด็กๆ ได้หวนคำนึงถึง และได้เติบโตมาด้วยความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ซึ่งสมาคมกีฬาไทยได้เติมเต็มวิถีความเป็นไทยมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย