[:th]ประวัติความเป็นมาของว่าวไทย
คำว่า “ว่าว” เป็นคำที่คนไทยทุกชั้นทุกสมัยคุ้นเคย และสัมผัสมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ข้าราชการ ข้าราชบริพาร และพระมหากษัตริย์ แต่ในที่นี้เราจะกล่าวถึงว่าวจุฬา-ปักเป้า ซึ่งเป็นว่าวเอกลัษณ์ของไทยที่แสดงถึงศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทย ทั้งยังเป็นกีฬาประเภทหนึ่งในสมัยโบราณที่พระมหากษัตริย์ของไทยในอดีตทางโปรดปรานและจัดให้มีการเล่นแข่งขันหน้าพระที่นั่งอีกด้วย
ประเภทของว่าว
ว่าวแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ
- ว่าวแผง (FLAT TYPE) ว่าวประเภทนี้เป็นว่าวที่มีแต่เพียงส่วนกว้าง และส่วนยาวเท่านั้นไม่มีส่วนหนา จึงเป็นว่าวที่ออกมาแบนราบเช่น ว่าวจุฬา-ปักเป้า ว่าวงูและว่าวอีลุ้ม เป็นต้น
- ว่าวภาพ (BOX TYPE) ว่าวประเภทนี้ เป็นว่าวที่มีส่วนกว้างส่วนยาว และส่วนหนา อาจจะเน้นไปในรูปแบบของแนวความคิด หรือเน้นไปในรูปแบบของความสวยงามก็ได้ เช่น ว่าวนก ว่าวรูปคนต่างๆ และว่าวแสดงความคิดที่เป็นคติก็ได้
การเล่นว่าวในประเทศไทย มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ.1781-1981) คือ สมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
(หรือพระร่วง) นั่นเอง ว่าวที่รู้จักกันมาก ได้แก่ “ว่าวหง่าว” หรือ ว่าวตุ๋ยดุ่ย ซึ่งจะใช้ชักขึ้นในพิธี “แคลง” ทุกหนทุกแห่งเป็นความเชื่อของประชาชนในสมัยนั้นว่า เพื่อเป็นการเรียกลม หรือความโชคดีให้เกิดขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “ว่าวหง่าว” เป็นว่าวที่เก่าแก่ที่สุดของไทยในสมัยอยุธยา (พ.ศ.1893-2310) คำว่า “ว่าวจุฬา” ปรากฏชื่อขึ้นในสมัยนี้ และยังสามารถช่วยในการรบชนะ กล่าวคือ ในสมัยพระเพทราชาทรงส่งกองทัพไปปราบขบถเจ้าเมืองนครราชสีมาได้นำว่าวจุฬาขึ้นและผูกหม้อกระสุนดินดำ โดยใช้ชนวนถ่วงเวลาและชักให้ข้ามไปในแดนของฝ่ายตรงข้าม ทำให้เกิดระเบิดไฟไหม้ขึ้น ทหารฝ่ายอยุธยาก็เข้าเมืองได้
สมัยแผ่นดินของพระพุทธเจ้าเสือ ซึ่งโปรดการปลอมพระองค์ออกไปตามชนบทต่างๆ นอกจากพระองค์จะโปรดการชกมวย ยังโปรดการเล่นว่าวและคว้าว่าวจุฬาปักเป้ากับข้าราชบริพารเสมอๆ คำว่า “ว่าวปักเป้า” จึงเป็นว่าวอีกชนิดหนึ่งที่ปรากฎชื่อขึ้นในสมัยนี้และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายตั้งแต่นั้นมา
สมัยรัตนโกสินทร์ในราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดการแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้ามาก จัดการแข่งขันกลางแจ้งที่ทุ่งพระเมรุ (หรือท้องสนามหลวงในปัจจุบัน) เป็นที่สนุกสนาน เมื่อเวลาที่ว่าวสายใดชนะพระองค์ก็ทรงโปรดพระราชทานถ้วยรางวัลให้ การแข่งขันเริ่มมีตั้งแต่ปี พ.ศ.2449 เป็นต้นมา โดยพระองค์เสด็จเป็นองค์ประธานในการแข่งขันเป็นประจำทุกปี จนสิ้นรัชสมัยของพระองค์ ฉะนั้นจึงจัดได้ว่าว่าวจุฬา-ปักเป้า เป็นว่าวเอกลักษณ์ของไทยชาติเดียวเท่านั้นที่สามารถนำมาเล่นใช้ต่อสู้กันได้ โดยมีการวางแผนต่อสู้ และการบังคับให้ต่อสู้กันกลางอากาศ
ในปัจจุบันได้จัดการแข่งขันว่าว “จุฬา-ปักเป้า” ขึ้นเป็นประเพณีของกีฬาไทย โดยใช้ชื่อว่า “งานประเพณีกีฬาไทย” ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งจัดการแข่งขันกีฬาของไทย อาทิเช่น ตะกร้อ กระบี่กระบอง หมากรุก และที่สำคัญ คือการแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้าของไทย ซึ่งงานนี้จัดโดยสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร และยังได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานของภาครัฐบาลและเอกชนอื่นๆ ร่วมแรงร่วมใจกันอีกด้วย
วิธีการทำว่าว
- โครงว่าว
การเลือกไม้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการทำโครงว่าว ไม้ที่นิยมใช้ทำว่าวก็คือ ไม้ไผ่สีสุก ซึ่งมีคุณภาพของเนื้อไม้เหนียวและแน่น มีสปริงในตัวของมันเอง ทำให้เราสามารถที่จะดัด แต่ง ส่วนประกอบของโครงว่าวให้เป็นรูปต่างๆ กันได้ง่าย (ส่วนใหญ่ไม้สีสุก ที่มีอายุประมาณ 3 ปี ขึ้นไป มีคุณภาพในการใช้ทำว่าวได้ดี)
การตัดไม้ จะต้องตัดจากส่วนโคนต้นขึ้นไป 3 เมตร ไม้ที่ได้จะตัน ส่วนนี้จะนำมาทำอกว่าว ส่วนบนเหนือ 3 เมตรขึ้นไป จะนำมาทำปีก และขากบ
เทคนิคการเลือกตัดไม้
เราจะตัดไม้ในกอส่วนที่ถูกแดดส่องทั้งสองข้าง ได้แก่ ส่วนที่ได้จากแดดตอนเช้า จากทิศตะวันออก และได้แดดในช่วงบายจากทิศตะวันตก
- การเหลาไม้และตัดไม้
เมื่อเราได้ไม้ไผ่ตามคุณลักษณะที่ต้องการดังกล่าวแล้ว จึงนำมาเหลาตามลักษณะของโครงว่าวรูปต่างๆ ที่
จะทำ เทคนิคของการเหลาและตัดไม้เพื่อให้โค้งงอตามรูปต่างๆ ได้ง่าย ต้องใช้น้ำตาลปีบทาที่ไม้ที่เหลาแล้ว และค่อยๆ ลนไฟอ่อนๆ เมื่อน้ำตาลละลาย ไม้ร้อน (แต่ข้างในเนื้อไม้จะอุ่น) จะสามารถดัดไม้ได้ง่ายและได้ความคงทนด้วย
- การผูกว่าว
เมื่อดัดและตบแต่งไม้ได้ตามต้องการแล้ว จึงนำส่วนประกอบต่างๆ ของว่าวแต่ละชนิดมาผูก และประกอบ
ส่วนต่างๆ ขึ้นเป็นตัวว่าวตามต้องการ เช่น ประกอบเป็น ว่าวจุฬา และ ว่าวปักเป้า
- การปิดกระดาษ
การปิดกระดาษว่าว ตามรูปลักษณะของโครงว่าวแต่ละชนิดนั้น นิยมใช้กระดาษสาประเทศจีน เพราะเนื้อ
กระดาษหนาและเหนียวดี แต่ปัจจุบันกระดาษสาของไทยได้วิวัฒนาการให้มีคุณภาพดีขึ้น ฉะนันว่าวบางชนิดจุงใช้กระดาษสา ที่ผลิตในประเทศของเรา
อาวุธของว่าว (ที่ใช้เล่นในการแข่งขัน)
ว่าวจุฬา จะมีอาวุธติดตัวอยู่ตรงสายว่าว เรียกว่า “จำปา” ใช้สำหรับเกี่ยวเหนียงและหางของว่าวปักเป้า ทำให้ว่าวปักเป้าเสียหางหรือเหนียงเข้าเครื่อง
ว่าวปักเป้า อาวุธของว่าวปักเป้าที่ใช้ในการต่อสู้กับว่าวจุฬา คือ “เหนียง” ซึ่งประกอบด้วยสายทุ้งสายยืน สายทุ้งจะยาวกว่าสายยืนเล็กน้อย แต่ก็ใหญ่พอที่จะครอบว่าวจุฬาได้ ซึ่งจะทำให้ว่าวจุฬาเสียการทรงตัว และตกในที่สุด
เชือกที่ใช้ในการเล่นว่าว เราเรียกเชือกชนิดนี้ว่า “ป่าน” เป็นเชือกที่สามารถบังคับว่าวได้ง่าย เมื่อเรากระตุกว่าวแต่ละครั้ง แรงจะส่งถึงตัวว่าวได้ทันที แต่ถ้าเป็นเชือกไนล่อนจะยึดจนตึงเสียก่อนที่แรงกระตุกจะส่งไปถึงตัวว่าวในภายหลัง ทำให้ว่าวอืด ช้า ไม่ทันการ ผู้ชักจะบังคับว่าวไม่ได้รวดเร็ว ในขณะที่ทำการต่อสู้ซึ่งกันและกัน เทคนิคของการทำให้ป่านมีความเหนียวและยืดหยุ่นดี สะดวกในการกระตุกและบังคับว่าวได้ดังใจของผู้ชักก็คือ “การกวดป่าน”
ว่าวจุฬาที่ใช้แข่งขันในปัจจุบัน จะมีขนาดอกตั้งแต่ 80 นิ้วขึ้นไป ส่วนว่าวปักเป้าที่ใช้แข่งขันจะมีขนาดอก 34นิ้วครึ่ง
สูตรว่าวจุฬา ขนาดอก 85 นิ้ว
อกยาว 85 นิ้ว
ปีกยาว 81 นิ้ว
หัวยาว 34 นิ้ว
ขายาว 57 นิ้ว
ปีกกว้าง 28.7 นิ้ว
เข็มยาว 22.4 นิ้ว
จากปีกล่างถึงสุ่มขา 13 นิ้ว
เอวโตข้างละ 10 นิ้ว
ผังขา 23 นิ้ว
แร่งขา 24.6 นิ้ว
สูตรว่าวปักเป้า ขนาดอก 34 นิ้วครึ่ง
ปีก 40.5 นิ้ว
หัว 7 นิ้ว
สักหัว 16.5 นิ้ว
ระบายปีก 22.5 นิ้ว
สักแรก 2 นิ้ว
สักต่อๆ ไป 2 นิ้ว
ผูกสักหมู่ 2 นิ้ว
ห่วงสำหรับผูกหาง 12 นิ้ว
ว่าวที่เราใช้ในการแข่งขัน เรามักจะทำว่าวให้มีความแตกต่างกัน 3 ชนิด เพื่อจะได้เลือกใช้ตามสภาพอากาศ
- ว่าวชนิดแข็ง หมายถึง เราเหลาโครงว่าวให้ค่อนข้างแข็ง สามารถที่จะทนต่อแรงลมได้ดี ในวันแข่งขันที่มีลม
แรง แต่ถ้านำมาใช้กับสภาพลมอ่อน จะทำให้ว่าวหนัก และตกลงมาได้ง่าย
- ว่าวชนิดกลาง คือ การเหลาโครงว่าวให้อยู่ในลักษณะที่ไม่แข็งจนเกินไป และไม่อ่อนจนเกินไป สำหรับใช้ใน
วันที่มีสภาพลมแรงปานกลาง
- ว่าวชนิดอ่อน ก็คือ การเหลาโครงว่าวให้อ่อนกว่าชนิดกลางลงมาอีก เพื่อใช้กับสภาพลมอ่อน ช่วยให้ว่าวขึ้น
ได้ง่าย
ฉะนั้น ในการแข่งขันว่าวแต่ละครั้ง สายว่าวที่เข้าแข่งขันจะต้องเตรียมว่าวมาให้ครบทั้ง 3 ชนิด เพื่อสะดวกในการชักให้ขึ้น และบังคับว่าวให้ได้ดีตามสภาพของอากาศ ว่าวแต่ละชนิดจะมีกี่ตัวก็ได้ ในการแข่งขันไม่จำกัดจำนวน ยิ่งสายว่าวของใครมีว่าวมากก็ยิ่งดี และยิ่งได้เปรียบคู่ต่อสู้ เพราะในการแข่งขันจะมีว่าวหักบ้าง ฉีกขาดบ้าง ขาดลอยหายไปบ้าง ทำให้ว่าวขึ้นไม่ได้รวดเร็ว และไม่สามารถทำคะแนนได้มากทันเวลาตามกติกาของการแข่งขัน บางครั้งทำคะแนนมาได้ไล่เลี่ยกัน แต่พอมาประสบปัญหานี้เข้า อีกฝ่ายหนึ่งขึ้นว่าวไม่ทันการ เพราะเกิดความเสียหายดังกล่าวก็แพ้ไปเลยก็มี
ในการแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้าแต่ละปี ถ้าสายว่าวต่างๆ และผู้เข้าแข่งขันทุกๆ ท่านได้ตระหนักและซาบซึ้งกับคำว่า “กีฬา” และคำที่ว่า “น้ำใจของนักกีฬา” อย่างถูกต้องแล้ว ภาพพจน์ที่ได้จะมีคุณค่าและนำความภาคภูมิใจมาสู่บรรพบุรุษของเราในอดีต และเป็นแบบอย่างที่ดีและถูกต้อง สมควรแก่การอนุรักษ์ไว้ให้เป็นกีฬาของไทยประจำชาติของเราสืบไป ฉะนั้น พวกเราซึ่งเป็นลูกหลานสืบทอดกันมา จะไม่ย้อนรอยอดีตในสิ่งที่ดีงาม อันควรแก่การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย อันเป็นมรดกไทยไว้ให้สมเกียรติ สมศักดิ์ศรีของบรรพบุรุษ
[:]